วันจันทร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2555

ภาษาและเพลงของนกกรงหัวจุก

ภาษาและเพลงของนกกรงหัวจุก


ร้องทน หมายถึง นกส่งเสียงร้องไม่หยุด ร้องตั้งแต่รอบแรก (ยกแรก) จนถึงรอบสุดท้าย (ยกสุดท้าย)

ลีลาประกอบการร้อง หมายถึง ลีลาท่าทางของนกกรงหัวจุกในขณะที่ส่งเสียงร้อง เช่น ส่งเสียงร้องพร้อมกับกระโดดลง จับคอนล่างคอนบน หรือร้องประกอบท่าเดินเป็นจังหวะต่อเนื่องสามก้าว (ถ้าไม่ครบสามก้าว ไม่มีคะแนนให้)

ริก หมายถึง อาการที่นกกรงหัวจุกส่งเสียงร้องระริก วงการนกถือว่าเป็นสุดยอดในการร้อง ซึ่งมีหลายแบบ คือ ร้องทักทายซึ่งค่อนข้างสั้นตั้งแต่ 2 - 3 คำ แต่ถ้าเป็นริกต่อสู้จะร้องตั้งแต่  3 - 5 คำ จะมีอาการประกอบคำร้อง มักจะร้องเป็นชุดรัวคำ โดยจะริกติดกัน 3 - 5 พยางค์ พร้อมกับการกางปีกทั้ง 2 ข้างแผ่ออก บางครั้งขาจะสั่นระริกตามเสียงร้อง นกกรงหัวจุกที่ริกขณะแข่งขันจะได้คะแนนนิยมสูงสุด บางครั้งขาจะสั่นระริกตามเสียงร้อง นกกรงหัวจุกที่ริกขณะแข่งขันจะได้คะแนนนิยมสูงสุด โดยมากจะไม่ให้คะแนนช่วงริกทักทาย แต่จะให้คะแนนช่วงที่ริกรัวเป็นชุดตั้งแต่ 3 - 5 พยางค์ขึ้นไป อาการริกไม่ค่อยพบบ่อยในนกกรงหัวจุกทั่วๆ ไป

ดอก หมายถึง คำ เป็นคำหนึ่งๆ ที่นกกรงหัวจุกร้องออกมา เช่น คำว่า ควิก หรือฟ่อ

สำนวน หมายถึง เสียงร้องของนกใน 1 ประโยค (บางครั้งเรียกว่า เพลง)

เพลง หมายถึง นกที่ร้องจบประโยคใน 1 นาที

ชุด หมายถึง จำนวนเพลงที่ร้องใน 1 นาที ซึ่งนกเขาชวาจะเรียกว่าตับ ขันจับตับสั้นหรือจับตับยาว แต่นกกรงหัวจุกจะเรียกว่า ชุดเล็ก ชุดกลาง และชุดใหญ่ บางครั้งก็ใช้คำว่า "ดอก" แทน "ชุด" ชุดเล็กจะนับเมื่อร้อง 3 เพลง (3 ประโยค) ขึ้นไปใน 1 นาที ถ้าร้องตั้งแต่ 4 เพลงขึ้นไปใน 1 นาที นับเป็นชุดกลาง แต่ถ้าร้องเป็นเพลงตั้งแต่ 5 เพลงขึ้นไปใน 1 นาที นับเป็นชุดใหญ่ คะแนนชุดใหญ่จะมากกว่าชุดกลาง และคะแนนชุดกลางจะมากกว่าคะแนนชุดเล็ก

เสียงเล็ก หมายถึง นกกรงหัวจุกที่ร้องเสียงแหลมเล็กโดยกำเนิด

เสียงกลาง หมายถึง นกกรงหัวจุกที่ร้องเสียงไม่แหลมเท่าเสียงเล็กแต่ก็ไม่ทุ้มเท่าเสียงใหญ่โดยกำเนิด

เสียงใหญ่ หมายถึง นกกรงหัวจุกที่ร้องเสียงทุ้มห้าวไม่มีความแหลมโดยกำเนิด

นกสู้ หมายถึง นกที่ห้าวหาญมุ่งจะเอาชนะคู่ต่อสู้โดยส่งเสียงร้องดังข่มคู่ต่อสู้ เป็นนกดุ จุดเด่นของนกสู้ก็คือ มีจุกบนหัวจุกค่อนข้างยาวและชี้ตั้งปลายโง้งไปข้างหน้า นัยน์ตาดุ จะงอยปากบนหนาใหญ่ กระดูกปากใหญ่แข็งแรง ปลายปากแหลมคม คอตั้ง หน้ายาว ส่วนมากเสียงร้องจะไม่ไพเราะ คือ ร้องเสียงเกรี้ยวกราดคล้ายเสียงตวาด

นกเพลง หมายถึง นกที่ส่งเสียงร้องไพเราะนุ่มนวล นัยน์ตาหวาน

นกกรงหัวจุกจะเรียกลักษณนามว่า "ตัว" เหมือนสัตว์ประเภทอื่นๆ มิได้เรียกว่า "นก" เหมือนนกเขาชวา


          นกกรงหัว จุกที่ร้องเป็นเพลงและมีจังหวะดีจะชนะการแข่งขัน ผู้รู้เกี่ยวกับเรื่องเพลงของนกกรงหัวจุก ได้อธิบายไว้ว่า เสียงร้องของนกใน 1 ดอกนั้นจะต้องมี 3 พยางค์เป็นอย่างน้อยหรือที่เราเรียกว่าเพลง 3 จังหวะ และต้องร้องเป็นสำนวน จึงจะถือว่านกร้องเป็นเพลงและจะนับเป็นดอกในการแข่งขัน

นกที่ร้องเพลง 3 และ 4 จังหวะจะเรียกว่า "เพลงหลัก" ส่วนนกที่ร้องเพลงตั้งแต่ 4 จังหวะขึ้นไปและมีเสียงร้องพยางค์หน้าว่า "ฉก" หรือ "จก" ถือว่าเป็นนกที่มีเพลงดีเพลงนิยม ส่วนนกที่ร้อง 4 พยางค์ขึ้นไป แต่ไม่มีพยางค์หน้าว่า "ฉก" หรือ "จก" แต่มีเสียงร้องพยางค์หน้าว่า "ควิ๊ก" หรือ "ฟิก" เราเรียกว่า นก "ทิ้งฉก" ซึ่งจะเรียกว่า "เพลงประกอบ" และจะมีเกณฑ์ความนิยมเพลงร้องของนกกรงหัวจุกดังนี้

- นกที่มีเสียงร้องพยางค์หน้าว่า "ฉก" หรือ "จก" จะมีความนิยมกว่านกที่มีเสียงร้องพยางค์หน้าว่า "ควิ๊ก" หรือ "ฟิก"
- นกที่ร้อง "เบิ้ลหน้า" จะมีความนิยมกว่านกที่ร้อง "ไม่เบิ้ลหน้า"
- นกที่ร้องมี "ลูกเล่น" จะมีความนิยมมากกว่านกที่ร้อง "ไม่มีลูกเล่น"
- นกที่ร้องมี "ริก" จะมีความนิยมกว่านกที่ร้อง "ไม่ริก"


เพลงหลักของนกกรงหัวจุกจะมีอยู่ด้วยกัน 4 เพลง คือ1. เพลง "เหลี่ยว" คือ นกจะร้องออกเสียงสุดท้ายพยางค์คำว่า "เหลี่ยว" หรือนกจะร้องออกเสียงสุดท่ายพยางค์ว่า "เลี่ยว" ก็ได้
2. เพลง "เลี้ยง" คือนกจะร้องออกเสียงสุดท้ายพยางค์คำว่า "เลี้ยง" หรือนกจะร้องออกเสียงสุดท้ายพยางค์ว่า "เหลี้ยง" ก็ได้
3. เพลง "ยอ" คือ นกจะร้องออกเสียงสุดท้ายพยางค์ว่า "ยอ" หรือนกจะร้องออกเสียงสุดท้ายพยางค์ว่า "หย่อ" ก็ได้ เช่น นกร้องว่า "ฉก...กวิ๊ก...ไกว๊...เหลี้ยง"
4. เพลง "ฝก" คือ นกจะร้องออกเสียงสุดท้ายพยางค์ว่า "ฝก" หรือนกจะร้องออกเสียงสุดท้ายพยางค์ว่า "ฟ่อ" ก็ได้ เช่น นกร้องว่า "ฉก...กวิ๊ก...ตี...ฟ่อ"




ขอขอบคุณ  หนังสือนกเขาชวา นกกรงหัวจุก  เขียนโดย  รองศาสตราจารย์มัลลิกา  คณานุรักษ์ 


0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น