วันจันทร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2555

ตำนานนกกรงหัวจุก

ตำนานนกกรงหัวจุก


            นก กรงหัวจุก ที่เราๆท่านๆ นำมาแข่งขันประชันเสียงกันนั้น มีตำนานเล่าสืบต่อกันมา และมีหนังสือบางเล่ม ได้เขียนเอาไว้ว่าชนชาติแรกที่นำนกปรอดหัวจุกมาเลี้ยงคือชาวจีน  เมื่อประมาณ พ.ศ.2410 คนจีนได้นำนกปรอดหัวจุกมาเลี้ยงแทนนกโรบิ้น ที่คนจีนส่วนใหญ่นิยมนำมาใส่กรงพาเดินไปตามถนนหรือนั่งร้านกาแฟ หรือไปหาเพื่อนๆ ที่รู้ใจและเลี้ยงนกเหมือนกัน และเจ้านกโรบิ้น มักจะเป็นนกที่ตกใจง่ายและตื่นคน บางครั้งตกใจมากจนถึงขั้นช๊อคตายคากรง ดังนั้นจึงเป็นเหตุให้ชาวจีนกันมาเลี้ยงนกปรอดหัวจุกหรือนกหัวจุกกันอย่าง แพร่หลาย ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

           นกกรงหัวจุกมีถิ่นอาศัยอยู่ในแถบประเทศที่มีอากาศร้อนชื้น ในทวีปเอเซีย พบได้ ประเทศจีน มาเลเซีย อินโดนีเซีย อินเดีย เวียดนาม กัมพูชา ลาว ส่วนใหญ่ เราจะพบนกชนิดนี้ได้ทั่วทุกภาคของประเทศ

          นกกรงหัวจุกเป็นที่นิยมของคนภาคใต้มายาวนาน โดยได้รับอิทธิพลมาจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย นั่นคือการแข่งขันประชันเสียงเพลงที่มีลีลาการร้องของสำนวนเสียง ในนกแต่ละตัวว่าใครจะเหนือกว่ากัน แต่ในสมัยก่อนของภาคใต้ตั้งแต่จังหวัดสตูล สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส กระบี่ นครศรีธรรมราช นิยมนำนกกรงหัวจุกมาชนกันหรือตีกันเหมือนกับการชนไก่ คือเอานกมาเทียบขนาดให้ใกล้เคียงกันแล้วจับใส่กรงกลางที่มีขนาดใหญ่แล้ว ปล่อยให้นกทั้งสองตัวไล่จิกตีกันภายในกรงจนกว่าจะรู้แพ้รู้ชนะ สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่านกปรอดหัวจุก มีนิสัยดุร้ายและชอบไล่จิกและตีกัน ตามธรรมชาติอยู่แล้ว

         การแข่งขันนกกรงหัวจุกได้มาเปลี่ยนแปลงไปเมื่อประมาณปี พ.ศ.2515 เพราะว่าชาวจังหวัดสงขลา มีแนวความคิดที่จะเปลี่ยนจากการตีกันมาเป็นแบบแข่งขันประชันเสียง โดยเอาแบบมาจากการแข่งขันของนกเขาชวา คือนำนกป่าที่ต่อมาได้นำมาเลี้ยงและฝึกให้เกิดความเชื่องกับคนเลี้ยงหรือ เชื่องกับผู้ที่เป็นเจ้าของ พร้อมกับฝึกให้นกมีความสามารถในการร้องในลีลาต่างๆ ตามแต่ที่นกในแต่ละตัวจะทำได้ และผู้เล่นนกกรงหัวจุกก็เริ่มเปลี่ยนการละเล่นที่นำนกมาตีกัน มาเป็นอย่างเดียวกันกบนกเขาชวา คือการเล่นฟังเสียงอันไพเราะของนก จากนั้นการแข่งขันประชันเสียงของนกกรงหัวจุกก็เริ่มมีผู้นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ จึงได้จัดให้มีการแข่งขันขึ้นอย่างเป็นทางการ เมื่อปี พ.ศ. 2519 ที่สนามบริเวณหลังสถานีรถไฟเมืองหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ซึ่งในการจัดครั้งนั้นถือว่าเป็นรายการใหญ่ที่สุดในยุคนั้น และได้ยกเลิกการแข่งขันนกกรงหัวจุกในแบบตีกัน ต่อมาเมื่อประมาณ พ.ศ.2520 ทางจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้จัดให้มีการรวมกลุ่มผู้เลี้ยงนกกรงหัวจุก โดยจัดตั้งขึ้นเป็นชมรม ซึ่งทำให้ทุกวันนี้มีชมรมต่างๆ เกิดขึ้นอย่างมากมาย

           กรุงเทพมหานคร ได้มีการเล่นนกกรงหัวจุก เมื่อประมาณ พ.ศ. 2524 โดยมีกลุ่มคนทางภาคใต้นำเอากีฬาชนิดนี้เข้ามาเผยแพร่ให้เป็นทีรู้จักและได้ จัดให้มีการแข่งขัน ขึ้นเป็นครั้งแรกที่ตลอดสวนจตุจักร และนับแต่นั้นมากระแสความนิยมแข่งขันประชันเสียงของนกกรงหัวจุกก็ได้รับความ นิยมสืบมาจนถึงปัจจุบัน

สายพันธุ์ปรอด

            นกกรงหัวจุก มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า นกปรอดหัวโขนเคราแดง หรือนกพิชหลิว ชื่อเรียกทางวิทยาศาสตร์ว่า Pycnonotus Jocosus เป็นนกที่มีการคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 มาตรา 17 ให้เป็นสัตว์ป่าชนิดที่เพาะพันธุ์ได้

           วงศ์สกุล (GENUS) ของนกปรอดมีมากมายหลายชนิด วงศ์นกปรอด (Family Pycnonotidae) เป็นนกที่มีชนิดมากที่สุด ซึ่งในแต่ละชนิดก็มีเป็นจำนวนมาก และที่ถูกค้นพบมากที่สุดคือประเทศฟิลิปปินส์ ส่วนในประเทศไทยมีรายงานการค้นพบนกปรอดทั้งหมด ประมาณ 36 ชนิด โดยที่ปรอดทั่วโลกมีประมาณ 109 ชนิด

นกปรอดหัวโขนเคราแดงชื่อสามัญ                          Red - whiskered Bulbul
ลักษณะทั่วไป                  มีลายขาวแดงที่ข้างแก้ม


นกปรอดหัวโขนก้นเหลือง
ชื่อสามัญ                         Brown - brested Bulbulo


นกปรอดคอลายชื่อสามัญ                        Stripe - throated Bulbul

นกปรอดก้นแดง หรือปรอดคางแพะชื่อสามัญ                        Black - capped Bulbul

นกปรอดหน้านวลก้นเหลืองของตาขาวชื่อสามัญ                       Yellow - vented Bulbul

นกปรอดเหลืองหัวจุกชื่อสามัญ                       Black - crested Bulbul

นกปรอดสวนชื่อสามัญ                       Blanfords Bulbul

นกปรอดโอ่งชื่อสามัญ                      White - throated Bulbul

นกปรอดทอง
ชื่อสามัญ                     Black - headed Bulbul


               นกปรอดหัวจุกที่นิยมนำมาแข่งขันกันนั้น จะนิยมนำนกปรอดหัวโขนเคราแดง หรือที่ภาคใต้เรียกว่านกหัวจุก ภาคเหนือนิยมเรียกว่านกปริ๊จจะหลิวหรือพิชหลิว ส่วนในสายพันธุ์อื่นๆ นั้น ปัจจุบันยังไม่ปรากฏว่ามีการนำมาเลี้ยงเพื่อการแข่งขันประชันเสียงร้อง เช่นเดียวกับนกกรงหัวจุกแต่อย่างใด

ลักษณะทั่วไปของนกปรอดหัวโขนเคราแดง

              แก้มและคอจนถึงหน้าอกจะมีสีขาวและมีสีแดงเป็นเส้นอยู่ข้างหูลงมาถึงหน้าอก เหมือนเป็นเส้นแบ่งขนสีขาวกับสีดำที่มีอยู่ทั่วทั้งตัว ขนส่วนหัวจะร่วมกันเป็นเหมือนหน่อตั้งอยู่บนหัวสูงขึ้นไปเหมือนหัวโขน ใต้ท้องมีขนสีขาว

             นกปรอดหัวโขนเคราแดง หรือนกกรงหัวจุกนั้นทางภาคใต้นิยมเลี้ยงกันมายาวนานแล้ว และสืบทอดกันมาชั่วลูกหลานจากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง จนเรียกได้ว่าการเลี้ยงนกกรงหัวจุกเป็นวัฒนธรรมพื้นบ้านหรือเป็นเกมกีฬา อย่างหนึ่งของคนภาคใต้ไปแล้ว และไม่ปรากฏหลักฐานใดๆ ว่าคนทางภาคใต้เริ่มเลี้ยงมาตั้งแต่เมื่อใด แต่มีหนังสือนกกรงหัวจุกเล่มหนึ่ง โดยมีคุณศักดา ท้าวสูงเนิน เป็นบรรณาธิการ ได้รวบรวมและเขียนเอาไว้ว่า

            การเริ่มเลี้ยงนกปรอด ประเทศสิงคโปร์ น่าจะเป็นชาติแรกที่นิยมเลี้ยงนกปรอดก่อนประเทศอื่นๆ และได้ให้ความสำคัญกับนกชนิดนี้มาถึงกับเอารูปนกปรอดหัวโขนเคราแดงมาเป็น สัญลักษณ์ในการพิมพ์ธนบัตรใช้จ่ายภายในประเทศ ดังนั้น จึงขอสันนิษฐานว่าน่าจะเลี้ยงก่อนชาติอื่นๆ

            ส่วนในประเทศไทยเริ่มมีการเลี้ยงนกกรงหัวจุกกันมานานแล้วประมาณว่าเกินกว่า 40 ปี มาจนถึงปัจจุบันนี้ ได้มีการพัฒนาการเลี้ยงและการแข่งขันประชันเสียงออกเป็นชนิดต่างๆ เช่นมีทั้งการแข่งขันประชันเสียงในประเภทนับดอก คือให้คะแนนตามที่นกร้องออกมาเป็นคำละคะแนน ประเภทสากล ประเภทเสียงทอง และในปัจจุบันก็ไม่ปรากฏว่ามีการแข่งขันประเภทตีกัน

            การ แข่งขันนกกรงหัวจุกได้รับการยอมรับว่าเป็นกีฬาชนิดหนึ่งที่มีผู้คนให้ความ สนใจทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ มีการจัดงานแข่งขันประชันเสียงกันทั่วประเทศไม่ว่าจะเป็นในกรุงเทพฯ ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคใต้ ในแต่ละสัปดาห์จะมีรายการแข่งขันทั้งประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 5 สนาม มีชมรมฯต่างๆ ที่เกี่ยวกับนกกรงหัวจุกทั่วประเทศนับเป็นร้อยๆ ชมรมฯ และสิ่งที่ยิ่งใหญ่เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ การได้รับการโปรดเกล้าพระราชทานถ้วยเป็นรางวัลแก่ผู้ที่ชนะการแข่งขัน มีตั้งแต่ถ้วยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถ้วยของพระบาทสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ซึ่งสร้างความปราบปลื้มและเป็นเกียรติยศแก่วงศ์ตระกูลของผู้ที่ได้ครอบครอง ถ้วยพระราชทาน

           วงการนกกรงหัวจุกจัดได้ว่าเป็นวงการที่ได้รับความนิยมจากคนไทยทั้งประเทศ เป็นจำนวนมาก และมีแนวโน้มว่าจะได้รับความนิยมแพร่ขยายมากขึ้น มีการจัดรายการแข่งขันติดกันและต่อเนื่องตลอดทั้งปี มีผู้ใหญ่ในบ้านเมืองให้การสนับสนุนหลายท่าน ซึ่งส่งผลให้วงการกีฬานกกรงหัวจุกเป็นกีฬาที่สร้างความสนุกสนานและเป็นการ สร้างความสามัคคีให้กับคนในชาติได้เป็นอย่างดี






ขอขอบคุณนิตยสารคนเลี้ยงนก ปีที่ 1 ฉบับที่ 5 ประจำเดือน  เมษายน 2549

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น