วันศุกร์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

เคล็ดเซียน นกเขาใหญ่

 

ก็ต้องกล่าวคำว่าสวัสดีบรรดา สาวก นกเขาใหญ่คารมอีกเหมือนเคยครับ  เอ๊าท์!!!..... “สวัสดีคร๊าบ..พี่น้อง” มาอีกแว้วว..ว    [ดอยปุย]  เจ้าเก่าเจ้าเดิม  พอดีเรื่องงานส่วนตัวมันเยอะมากๆ เลยทำให้ฉบับที่ 3 เขียนได้น้อยนิดครับ  มาเจอกันฉบับนี้ก็เลือดตาแทบกระเด็นอีกเช่นเคย รีบพิมพ์ต้นฉบับส่งจนนิ้วหงิกงอทีเดียว....แต่ถึงจะรีบ  เรื่องราวต่างๆที่ผมนำมาเสนอก็ยังเต็มไปด้วยสาระอย่างเต็มเปี่ยมเหมือนเดิม ครับ

จากฉบับที่แล้วที่ผมยังค้างเรื่องราวของศาสตร์แห่งคารมเอาไว้ ฉบับที่ 4 นี้เรามาว่ากันต่อเลยครับ  เพื่อไม่เป็นการเสียเวลา เริ่มเรื่องกันเลย

ยกตัวอย่างเพื่อเปรียบเทียบให้เข้าใจกันได้ง่ายขึ้นก็คือ

คำขันเรียก  ถือว่าเป็นการ ชักชวน เชื้อเชิญหรือเรียกนกอีกฝ่ายให้มาต่อสู้กัน ( ชวนตีก็ว่าได้ครับ )

คำขันหนุน  เป็นกริยาของการย้ำหรือเน้นเพื่อให้นกอีกตัวเกิดความกลัว

คำขันคู  เป็นการย้ำอีก ขู่อย่างรุนแรงด้วยอารมณ์โกรธแบบสุดๆหรือแสดงอาการของความยิ่งใหญ่เพื่อปก ป้องอานาเขตของตน      ( ถ้าเป็นนกกรงหัวจุกก็เปรียบเหมือนนก ริก นั่นเอง )………..]  ( ความเดิมตอนที่แล้ว... )




 ทางด้านของเรื่อง คารม นั้น มีผู้สนใจที่ได้ติดตามอ่านและเกิดความสงสัยติดต่อมาถามกันมากเกี่ยวกับ เรื่องนี้  ไม่แปลกครับที่เราจะรู้สึก งง “อะไรกันเนี้ย เรียก หนุน คู อะไรก็ไม่รู้ ฟังไม่เห็นจะออก”  อย่างที่บอกกล่าวกันไป ว่า คารม ไม่ใช่เรื่องหมูๆเลย  ต้องใช้เวลาพอสมควรกว่าจะเริ่มเข้าใจ  งั้นมาฉบับนี้ผมจะขอยกตัวอย่างเพิ่มเติมเพื่อให้เพื่อนๆพี่ๆชาว “เจาะสนามนก”เข้าใจในเรื่องคารมชัดเจนขึ้น

ขันอย่างไรกรรมการถึงจะให้คะแนน  มาดูจากตัวอย่างนี้กัน

1. นกขัน  เรียก  (/)  เรียก  (/)  เรียก  (/)  นกที่ขันแบบนี้เป็นนกที่ไม่มีคารม  แต่จะบอกว่าเป็นนกป่า 100% ไม่ได้ครับ นกลูกผสมที่ออกมาขันไม่มีคารมเลย  คือมีแต่คำ เรียก  (/)  แข่งติดอันดับมาแล้วก็เคยมีให้เห็นกันอยู่บ้างครับ แต่จะติดอยู่ในอันดับท้ายๆ

2. นกขัน  เรียก  (/)  หนุน  (-)  เรียก  (/)  หนุน  (-)  เรียก  (/)  เป็นนกที่ขันไม่เต็มตับหรือตับขาดนั่นเองคือขาดคำคู  ในการให้คะแนน นกตัวนี้ขัน 1 พยางค์เท่ากับ 2 คำ ได้คะแนนเพียงแค่ 1 คะแนน

3. นกขัน  เรียก  (/)  คู  (.)  เรียก  (/)  คู  (.)  เรียก  (/)  แบบนี้ก็ตับขาด คารมไม่สมบูรณ์ ขาดคำขันหนุน ขัน 5 พยางค์เท่ากับ 2 คำ ได้คะแนนที่คำคู 2 คะแนน นกแบบนี้จะดีกว่านกในข้อที่ 2 หนึ่งเท่าตัว ถ้ามีความถี่ดีมากๆ นกขันตับสลับหลายๆชั้นก็กินได้ยากเหมือนกันนะครับ

4. นกขัน  เรียก  (/)  หนุน  (-)  คู  (.)  เรียก  (/)  หนุน  (-)  คู  (.)  เรียก  (/)  เป็นนกขันเต็มตับสมบูรณ์ โดยมีตับสั้น คารมสั้นอยู่ในเกณฑ์ดี เพราะจะทำให้เพิ่มประโยชน์ในการเพิ่มคะแนนตับ อีก 2 คะแนน ในการให้คะแนนนกที่ขันเต็มตับ คือ คำหนุน 1 คะแนน  คำคู 2 คะแนน  เพิ่มพิเศษขันเต็มตับอีก 2 คะแนน รวมตับนี้นกขัน 3 คำ ได้ 5 คะแนน

5. นกขัน  เรียก  (/)  หนุน  (-)  คู  (.)  หนุน  (-)  เรียก  (/)  หรือ  เรียก  (/)  คู  (.)  หนุน  (-)  คู  (.)  เรียก  (/)  คำหนุนในวรรคแรกกับคำคูในวรรคที่ 2 เป็นคำเสริมตับสลับ 1 ชั้น แต่ได้รับประโยชน์ต่างกันนิดหน่อย คือ คำขันหนุนท้ายวรรคแรกจะได้คะแนนประจำคำ 1 คะแนน ได้คะแนนตับสลับอีก 2 คะแนน รวมเป็น 3 คะแนน  ส่วนวรรคที่ 2 คำขันคูสุดท้ายเป็นเป็นตับสลับคู จะได้คะแนนประจำคำ 2 คะแนน เพิ่มตับสลับอีก 2 คะแนน รวมเป็น 4  ผลต่างที่เห็นกันก็คือ นกที่ขันคูจะเหนือกว่านกขันหนุน อย่างเจ้านก [ดอยปุย] นั่นเอง 555+ ขันคูเยอะจัดจนบางทีไม่มีคำหนุนในตับ  เลยกลายเป็นนกขันตับขาดซะงั้นเลย  เอิ๊กๆๆ

6. นกขัน  เรียก  (/)  หนุน  (-)  คู  (.)  หนุน  (-)  คู  (.)  หนุน  (-)  เรียก  (/)  หรือ  เรียก  (/)  คู  (.)  หนุน  (-)  คู  (.)  หนุน  (-)  เรียก  (/)   วรรคแรกคำหนุนที่ 2 เป็นตับสลับ 1 ชั้น คำคูข้างหลังเป็นตับสลับ 2 ชั้น  และในแบบเดียวกัน วรรคที่ 2 คำคูคำที่ 2 ของวรรคเป็นตับสลับ 1 ชั้น คำหนุนต่อท้ายเป็นตับสลับชั้นที่ 2 การขันแบบนี้นกทั้งสองดีเท่ากัน

7. นกขัน  เรียก  (/)  หนุน  (-)  คู  (.)  หนุน  (-)  คู  (.)  หนุน  (-)  เรียก  (/)  หรือ  เรียก  (/)  คู  (.)  หนุน  (-)  คู  (.)  หนุน  (-)  เรียก(/)   คำหนุนสุดท้ายของวรรคแรกและคำคูสุดท้ายของวรรคที่สอง ไม่นับเป็นตับสลับ แต่จะได้ประโยชน์ของการให้คะแนนประจำคำ  คำหนุน 1 คะแนน  คำคู 2 คะแนน  การขั้นตับสลับตั้งแต่ 3 ชั้นขึ้นไปจะต้องมีคำหนุนต่อด้วยคำคู หรือ คำคูแล้วต่อด้วยคำหนุน ควบไปเสมอ  ถ้าขาดคำใดคำหนึ่งไป คือคำคูเดี่ยว  หรือ คำหนุนเดี่ยว  ตามกติกาในการแข่งขันถือว่าเป็นการขันไม่สลับตับ




และแล้วก็มึนงงกันไปทั้งคนเขียนและผู้อ่าน  ฮ่าๆ  ล้อเล่นครับ  พยายามอ่านและทำความเข้าใจเมื่อตัวเรารู้สึกว่าเริ่มฟังออก  ในช่วงแรกๆแม้แต่ผมเองก็ยังไม่อยากจะอ่านเรื่องราวของคารมเลย.... “อะไรวะเนี้ย!! ตับสลับเอย  เสียงร้องเอย งงเป็นบ้า...” แต่เมื่อถึงวันที่เราเริ่มคลุกคลีกับนกมากขึ้น กลับมาลองอ่านทำความเข้าใจใหม่ คราวนี้รู้เรื่องแล้วเรา

สุดท้ายของเรื่องราวของ คารม  ผมอยากจะฝากบอกไว้ว่า การเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับ คารม ของนกเขาใหญ่ไม่ใช่เรื่องที่เราจะทำความเข้าใจกันได้ในเวลาอันรวดเร็วนัก แต่ถ้าหมั่นฝึกฝนและทดลองฟังจากนกหลายๆตัว(ยิ่งเจอนกมาก็ยิ่งมีประสบการณ์ มาก) ก็สามารถจะทำให้มือใหม่พัฒนาฝีมือในการฟังได้อย่างชำนาญโดยใช้เวลาไม่มากเลย ทีเดียวครับ  ยิ่งในยุดสมัยนี้มีเทคโนโลยีใหม่ๆเกิดขึ้นจึงทำให้เราสามารถนำมาใช้ประโยชน์ ในการแยกเสียงของนกได้

เช่น การใช้โปรแกรม Nero Wave Edit  เพื่อดูรูปคลื่นเสียงขัน อย่างนี้เป็นต้น ฉะนั้น  จริงๆแล้วผู้เลี้ยงมือใหม่สมัยนี้จะเรียนรู้ได้เร็ว  มากกว่าผู้เลี้ยงในสมัยก่อนซะด้วยซ้ำ เพียงแต่เราต้องรู้จักนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ควบคู่กับการเลี้ยงนกของเรา เพื่อจะได้เป็นการช่วยกันพัฒนาวงการ “นกเขาใหญ่คารม” ให้คงอยู่กับลูกหลานและทัดเทียมกับวงการนกแข่งขันอื่น ให้จนได้.......

หลังจากหมดเรื่องคารมที่แสนจะวุ่นวายไปเรียบร้อย ทีนี้ก็มาถึงเวลาในการหานกเจ๋งๆมาอยู่ในครอบครองกันซะที  แล้วเราจะต้องดูจากอะไร??  ในการหาซื้อหรือจะด้วยวิธีไหนก็ตามครับ ( ห้ามหานกโดนการทำผิดกฎหมายเด็ดขาดนะครับ ) ดักคอไว้ซักเล็กน้อย  ในการจะหานกมาเลี้ยงซักตัวเพื่อหวังว่านกของเราจะได้ไปติดรางวัลกับเค้าบ้าง ก็ไม่ใช่เรื่องยากเย็น  เอาเป็นว่าผมจะเล่าถึงวิธีการเลือกนกในแบบของผมก็แล้วกันนะครับ...






เลือกนกเขาใหญ่อย่างไร  ในแบบฉบับ [ดอยปุย]



 ในการเลือกและตระเวนหานกที่ดี มีแววทำได้โดยแบ่งเป็น 2 แบบใหญ่ๆ

1. ขอแบ่งนกแข่งดีๆจากบรรดาท่านผู้อาวุโสหรือผู้ที่แข่งขันอยู่ในวงการ ณ ที่สนามแข่งขัน  โดยเราต้องไปนั่งดู ในขณะที่นกทำการขึ้นตะขอแข่งขันเลยครับ สังเกตดูว่าเราชอบนกตัวไหน สไตล์อย่างไรเช่น ชอบนกที่ได้อายุ( เป็นนกที่มีประสบการณ์ในการแข่งขันมากๆ ) นกพวกนี้จะรู้งานเหมือนสั่งได้อะไรแบบนั้นเลยครับ และอีกอย่างก็คืออายุมาก เก๋าเกมส์กว่านกอายุน้อยๆ ส่วนใหญ่นกกลุ่มนี้จะมีราคาค่อนข้างสูง (แต่ก็คุ้มกับการที่เราจะต้องพรากความผูกผันระหว่างเจ้านกกับผู้เลี้ยงไป)  หลังจากดูสไตล์การสู้ของนกแล้วทีนี้ก็ลองดูคะแนนที่ได้ว่าเราพอใจมากน้อยแค่ ไหนครับ พอตกลงใจว่าชอบตัวไหนแล้วทีนี้ก็อยู่ที่ความสามารถของเราเองแล้ว ว่าจะทำอย่างไรที่จะขอความกรุณาจากเจ้าของนกตัวนั้น....แบ่งมาให้มือใหม่ๆ ได้ลองเลี้ยงและได้สัมผัสกับ “นกเขาใหญ่คารมที่แท้จริง”  แต่มีสิ่งหนึ่งที่ ผมอยากจะฝากไว้ก็คือค่าของเงินทองไม่สามารถจะแลกเปลี่ยนเป็น เจ้านกเขาใหญ่คารมที่เจ้าของสุดแสนจะรักได้ซะเสมอไปนะครับ บางทีเราก็ต้องพกความจริงใจติดตัวไปด้วยครับ

2. หานกกระดูกอ่อน (พวกนกที่ยังมีอายุน้อย) การหานกเด็กๆมาเลี้ยง ฟูมฟัก เพื่อให้เป็นนกแข่งที่เก่งในวันข้างหน้าแบบนี้ ต้องใช้ประสบการณ์ค่อนข้างมากเพื่อคัดเลือกลูกนกที่มีแวว มีลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากลูกนกตัวอื่นๆ วิธีการนี้ผมขอแนะนำสำหรับมือใหม่ทุกๆท่านเลยครับ เพราะใช้ทุนในกระเป๋าไม่มากนัก แต่ต้องใช้ความอดทนสูง และเป็นการพิสูจน์ตัวเองด้วยว่า ตอนนี้ตัวเรารู้จักกับนกเขาใหญ่คารมดีมากพอหรือยัง






[ เทคนิคและเคล็ดลับต่างๆในการเลือกนกเขาใหญ่คารมอย่างเซียน ]

1. เราต้องสอบถามประวัติ ที่มาที่ไปของลูกนกซะก่อนว่า ต้นตระกูลเป็นมาอย่างไรบ้าง พ่อเป็นใคร แม่มาจากไหน ยิ่งรู้ประวัติของนกที่เราสนใจมากเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งเลือกได้ง่ายขึ้นครับ

2. หลังจากจับลูกนกขึ้นมาจากกรงบินใหญ่มาใส่กรงเลี้ยงแล้วเจ้าลูกนกมีอาการ เป็นอย่างไร บางตัวตกใจกลัวมากจนเกินเหตุแต่บางตัวไม่มีอาการตกใจเลยแถมร้องให้เราได้ยิน กันซะอีก แบบนี้ก็แสดงว่าลูกนกตัวที่ไม่ตกใจจะต้องมีใจที่ดีกว่าอีกตัวแน่นอน

หลังจากได้ยินน้ำเสียงแล้วก็ลองฟังดูว่าน้ำเสียงดีมากน้อยเพียงใด ขันเข้าตับแล้วเป็นอย่างไร และที่สำคัญเราต้องทราบถึงอายุที่แน่นอนของลูกนกด้วย( ตรงนี้สำคัญครับ ) อย่างที่ผู้เขียนอย่างผมพบเจอมากับตัวเอง  ก็คือเจ้าลูกนกตัวที่เก่งๆก็มักจะฉายแววออกมาตั้งแต่อายุน้อยๆเลย  เช่น  เจ้าลูกนกอายุได้แค่ 2 เดือนเศษ ก็เริ่มขันโยนได้แล้ว และที่ทำให้ตกตะลึงที่สุดที่เคยเห็น ลูกนกอายุได้เพียงแค่ 3 เดือน 15 วัน เกาะคอนไม้ ขันเข้าตับอย่างไม่หยุดหย่อน แถมด้วยเมื่อจับมาเลี้ยงในกรงเลี้ยง อกอีแป้นจะแตก!!

ออกอาการสู้นกเหมือนกับนกที่แข่งติดมาแล้วอย่างไม่เกรงกลัว 

3. การคัดเลือกโดยการสังเกตนิสัยของนก

การเลือกนกเขาใหญ่คารมที่เก่งหรือแข่งติดบ่อยครั้งต้องสังเกตลักษณะนิสัยของ นก ว่ามีนิสัยที่เป็นประโยชน์กับกฏกติกาการแข่งขันหรือไม่ เช่น มีนิสัยชอบขันเข้าตับยาวๆ ไม่ค่อยกลัวคน นกพวกนี้จะคุ้นเคยกับเจ้าของเร็วมาก ฯลฯ

4. นกที่มีน้ำเสียง-แกนเสียงที่แตกต่างจากนกทั่วๆไปแต่ต้องแตกต่างไปนทางที่ ดีนะครับ เช่น น้ำเสียงฟังแล้วรู้สึกแทงหูมากๆ โทนเสียงตวาดหนักแน่น ใส ลอยไกล ฯลฯ นกกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เมื่อขึ้นแข่งคู่แข่งจะกลัว ตกใจ ไม่นานนักก็สามารถกดคู่ต่อสู้อีกตัวอยู่หมัดเลยทีเดียว

5. ฟังนกขันอย่าฟังคนขายนกขัน

6. นกที่จะเป็นนกแข่งที่ดีควรจะสู้ในทุกสถานะการและทุกสถานที่ ราคาต้องไม่สูงมากจนเกินไป แต่การซื้อขายนั้นก็อยู่ที่คนทั้งสองฝ่ายถ้าต่างพอใจก็รีบเอานกกลับบ้านเลย ทีเดียวเชียว




สิ่งหนึ่งในการคัดเลือกลูกนกก็คือ อย่ารีบร้อนและอย่าเพิ่งไปสนใจกับคำว่า”คารม”มากนักเพราะนกอายุยังไม่ มาก(ประมาณ4-12เดือน)เมื่อนกโตขึ้นทั้งคารม น้ำเสียง ความถี่ จะสามารถพัฒนาไปได้อีก เบื้องต้นก็ให้สืบประวัติ ฟังน้ำเสียง สังเกตนิสัยของนก ดูความกล้า ความดุดันว่าเหมาะกับกฎกติกาการแข่งขันในสมัยนี้รึเปล่าแค่นั้นก็เพียงพอ ครับ ที่เหลือก็อยู่ที่น้ำเลี้ยงของเราเอง ว่าจะสามารถปั้นแต่งลูกนกที่มีแววให้เป็นนกแข่งที่เก่งได้มากแค่ไหนนั่นเอง ครับ สำหรับนกเขาใหญ่คารมที่เป็นนกแข่งติดอันดับแล้วบางตัวได้รับรางวัลตอนมัน อายุอยู่ในช่วง 6 - 10เดือนก็มีให้เห็นมากมายนัก อย่างลูกนกเสียงใหญ่ของผมก็สามารถแข่งติด ตอนอายุเพียง 10 เดือน เมื่อไหร่ที่สังเกตุเห็นลูกนกมีอาการณ์แบบในเบื้องต้นที่พูดมาเราก็สันนิฐาน ได้ก่อนเลยว่าเจ้าลูกนกแบบนี้จะต้องเป็นนกที่สุดยอดในวันข้างหน้าอย่างแน่ นอน( แบบว่าฉายแวววว....ว )  เท่าที่ผมทดลองใช้วิธีการสังเกตดูลูกนกที่อยู่ในกรงรวมใหญ่แบบนี้ ได้ผลดีเกินคาดครับ (แต่ยังไงหลายๆท่านก็ลองหาวิธีการของตัวเองหรือลองทำแบบผมดูก็ไม่หวงเลย)  ในการสังเกตก็ต้องใช้อีกหลายๆอย่างประกอบกันไปด้วยครับ ไว้ถ้านึกออกจะนำมาเล่าสู่กันฟังในฉบับต่อๆไป  อีกอย่างที่สำคัญครับ เราจะต้องหาที่ปรึกษา ที่มีประสบการณ์ ไว้เป็นที่ปรึกษาซักคนจึงจะประสบความสำเร็จได้ โดยใช้เวลาไม่มากจนเกินไปและเดินบนเส้นทางสายนี้ได้อย่างถูกต้อง





ดินดำสำคัญอย่างไรกับนกเขาใหญ่คารม

 ดิน  หิน  ทราย  มีความสำคัญมากสำหรับสัตว์ปีกอยู่แล้ว เพราะสัตว์ปีกต้องใช้ ดิน ทรายเพื่อช่วยในการย่อยอาหารที่มันกินเข้าไป ยิ่งนกเขากินเมล็ดพืชต่างๆเป็นอาหาร อธิเช่น ข้าวเปลือก ข้าวฝ้าง มิลเล็ต ถั่วเขียว  ฯลฯ เนื่องจากเมล็ดพืชมีความแข็ง  กระเพาะอาหารอย่างเดียวจึงไม่สามารถทำหน้าที่ย่อย อาหารจำพวกนี้ได้หมด  และนกก็ไม่มีฟัน เพื่อทำหน้าที่ช่วยในการย่อยอาหารในขั้นแรกแบบมนุษย์เรา ฉะนั้นกระบวนการย่อยและดูดซึมสารอาหารของสัตว์ปีกจึงต้องใช้เศษหินเศษดิน ทราย มาช่วยแบ่งเบาการทำหน้าที่ของกระเพาะ   นี่แหละคือสาเหตุว่าทำไมเราต้องใส่ดิน หรือทรายไว้ให้นกเขากินควบคู่ไปด้วย แต่นั่นก็เป็นเพียงประโยชน์ข้อแรกของดินดำเท่านั้น  ส่วนประโยชน์ข้อต่อไปก็สำคัญไม่แพ้กันครับ

 ประโยชน์ของดินดำอีกข้อหนึ่งก็คือ ทำให้นกเขาที่เรานำมาใส่กรงเลี้ยง( ผิดธรรมชาติ ) ถ่ายท้องได้ดี ท้องไม่ผูก ขี้นกก็จะไม่แข็ง เพราะในส่วนผสมของดินดำที่เราทำให้นกเขาของเรา มีสมุนไพรหลายชนิดที่มีสัพคุณทางยาเป็นยาระบาย เช่น ใบชุมเห็ด

พริกป่น มะขามเปียก  ฯลฯ  ส่วนผสมเกือบทั้งหมดที่ผสมลงไปในดินดำ มีจุดประสงค์หลักคือ ช่วยทำให้นกเขาขับถ่ายสะดวก  ท้องไม่ผูก หลายๆท่านคงสงสัยขึ้นมาแล้วซิว่า แค่ท้องผูก ขี้แข็ง เนี้ยมันสำคัญมากเชียวหรือ ? ผมตอบได้เลยครับว่าสำคัญสุดๆ!!

ไหนๆก็พูดเรื่องนี้มาแล้ว ก็เอาให้กระจ่างกันไปเลยแล้วกันครับ ถือว่าชดเชยให้ในฉบับที่ 3

 ธรรมชาติของนกเขาใหญ่ นกประเภทนี้จะไม่ค่อยแสดงอาการใดๆให้เราเห็นกัน ไม่ว่าจะเป็นเวลาเจ้านกไม่สบายก็ตาม ไม่เหมือนพวกนกกรงหัวจุกที่จะแสดงอาการออกมาให้ผู้เลี้ยงได้เห็นและรักษาได้ ทันเวลา  แต่ส่วนใหญ่นกเขาก็จะไม่ค่อยป่วยหรือตายง่ายๆ รียกได้ว่า โค-ตะ-ระ อึดเลย เพียงแต่เจ้านกเขาที่เรานำมาเลี้ยงมักจะมีปัญหาในเรื่องระบบการย่อยอาหาร ทำให้มีอาการท้องผูกอยู่เสมอๆ  สิ่งสำคัญอีกอย่างที่เราจะสังเกตเห็นได้บ่อยๆว่าเมื่อเจ้านกเกิดอาการกลัว สิ่งใดมากๆจะส่งผลไปถึงระบบการขับถ่ายได้ทันที เช่น ขี้เขียว  อันนี้ใครที่เลี้ยงนกแข่งจะทราบกันดี เพราะลูกนกของหลายท่านที่ปั้นขึ้นมาแข่งขันใหม่ๆส่วนมากจะโดนนกแก่ๆอัดซะ ขี้เขียวกลับบ้านไปตามๆกันจริงมั้ยครับ 555+ นกผมยังเคยเลย  วิธีการสังเกต ดูจากขี้นกที่ขับถ่ายออกมาว่ามีลักษณะเป็นก้อนแข็งหรือไม่ ถ้าใช่นั่นแหละครับท้องผูกไปเรียบร้อยแล้ว ปกติขี้ของนกที่มีสุขภาพดีจะแหลวงแบบมีน้ำออกมาปนกับส่วนของมูลนกอยู่ด้วย

 นกท้องผูกส่งผลอย่างไร

1. นกที่เคยแข่งขันติดอันดับมาแล้วบ่อยครั้งก็จะไม่ติด หรืออันดับลดลงอย่างเห็นได้ชัด ถ้าปล่อยไว้นานอาจถึงขั้นแข่งไม่ติดไปเลยก็มี

2. นกที่เคยขันได้ทั้งวันก็กลับเป็นนกที่ขันน้อยหรืออาจจะขันโยนมันทั้งวันโดยไม่เข้าตับ

3. สรุปง่ายๆก็คือ นกของเราจะดรอปลงในทุกๆเรื่อง ทีนี้เห็นรึยังครับว่าสำคัญขนาดไหน




การทำดินดำ

 การทำดินดำให้นกเป็นอะไรที่ใช้เวลานานเป็นวันๆครับ เอาเป็นว่าถ้าวันไหนตั้งใจจะทำดินดำวันนั้นทั้งวันไม่ต้องอะไรกันแล้ว! บางครั้งที่ทำ 1 วันไม่เสร็จก็มี แต่ที่เคยเจอกับตัวเองครั้งที่หัดทำครั้งแรกๆ หลังทำเสร็จก็นำดินที่ได้มาใช้ปกติ ใช้ได้ 2 วันราขึ้น!!! น้ำตาแทบไหล  เหตุการณ์นั้นทำให้ผมต้องจดจำมาจนถึงวันนี้ว่า เมื่อไหร่ที่ทำดินดำจะต้องห้ามรีบร้อนเด็ดขาด!! เพราะอะไรราถึงขั้นดินดำ ก็เพราะตอนขั้วดินให้แห้งจะต้องใช้ไฟอ่อนๆค่อยๆขั้วดินที่มีน้ำส่วนผสมท้วม อยู่จนกว่าดินจะแห้งสนิทไม่อย่างนั้นก็จะประสบเหตุการณ์ที่ผมพบเจอ  การเสียเวลาทำดินดำนั้น สำหรับผู้เลี้ยงนกเขาใหญ่คารมเก่งๆดีๆหลายคนก็พร้อมที่จะยอมเสียเวลาในการทำ เพราะมันคุ้มค่าจริงๆ

ส่วนผสมที่จะใช้ทำดำดิน(มันเป็นสูตรของเซียนแต่ละคนที่ไม่ค่อยจะยอมเปิดเผยซักเท่าไหร่นัก)

 แต่วันนี้นาย[ดอยปุย] ยอมเสี่ยงตายไปล้วงคองูเห่าจากเซียนเก่าแก่ท่านหนึ่ง เพื่อนำสูตรลับมาฝากเพื่อนๆสมาชิก “เจาะสนามนก” และเพื่อสุขภาพที่ดีของเจ้านกเขาใหญ่ทุกๆตัวเล๊ย..

สิ่งที่เราต้องใช้มีอะไรบ้างมาดูเลยครับ

 1. น้ำยาขนมจีนทั้งน้ำยากะทิและน้ำยาป่า

 2. เนื้อปลาช่อน

 3. น้ำมะขามเปียก

 4. ใบชุมเห็ด (สำคัญมากๆ)

 5. พริกป่น

 6. น้ำปลาอย่างดี

 7. น้ำผึ้งป่าแท้ๆ(ต้องแท้นะครับ)

 8. ดินจอมปลวกเผา(อันนี้ก็สำคัญมาก)

เมื่อทำเสร็จที่เนี้ย........จัดการเทให้นกกินโล๊ดด.... สังเกตดูขี้นกหลังจากที่มันกินเข้าไปแล้ว ขี้จะต้องเป็นสีดำและเหลวอย่างที่คุยไว้รึเปล่า แล้วอย่าตะลึง!! “นกของเราทำไมเปลี่ยนไป”

 และแล้วกระผมก็พิมพ์ไม่ไหวซะแล้วครับสำหรับฉบับที่ 4 ฉบับนี้ เหนื่อยจริงๆ แต่ก็เพื่อบรรดาสาวกนกเขาใหญ่คารมทุกท่าน แล้วในฉบับต่อไปจะยิ่งมีเนื้อหาสาระที่เข้มข้น ไม่มีใครเคยเปิดเผย  จะเอามาเล่าสู่กันฟังเหมือนเคย โดยผมนาย[ดอยปุย] (ถ้ายังไม่โดนลุง เซียนนกเขาคนนั้นฆ่าผมไปซะก่อนหากแกรู้ว่าผมแอบนำสูตรที่แกหวงนักหวงหนามา เขียนลงนิตยสาร)  ท้ายเรื่องก็ต้องขอขอบพระคุณทุกคนที่ติดตามครับ

2 ความคิดเห็น:

สุดยอดครับ ได้หลักการวิธีการรอการปฏิบัติเพื่อเกิดควาชำนาญ

แสดงความคิดเห็น